เบอร์มือถือ กับชีวิตในโลกออนไลน์
หากพูดถึงการใช้ประโยชน์จาก “เบอร์มือถือ” เราพอจะนึกกันออกไหมว่าทุกวันนี้เราใช้เบอร์มือถือทำอะไรกันบ้างในชีวิตประจำวัน เมื่อลองมาพิจารณาดูดี ๆ จะเห็นว่าเราใช้ประโยชน์จากเบอร์มือถือทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์เยอะมาก
แต่เรากลับใช้เบอร์มือถือเพื่อโทรหากันน้อยลง แน่นอนว่าเบอร์โทรศัพท์มือถือยังคงมีความสำคัญสำหรับการติดต่อสื่อสาร ถึงแม้ว่าเราจะมีไลน์ มีเฟซบุ๊ก (แอปฯ เมสเซนเจอร์) มีอินสตาแกรม ไว้ใช้สื่อสาร แอปฯ เหล่านี้มีฟังก์ชันในการแชต วอยซ์คอล วิดีโอคอล ให้ใช้งานได้ฟรี
ทำไมต้องระวังข้อมูลของคุณ
ในยุคปัจจุบันที่เราใช้เบอร์โทรศัพท์สำหรับโทรหากันน้อยลง เพราะเราหันไปใช้งานฟังก์ชันสื่อสารในแอปฯ สื่อสารหรือโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ร่วมกับอินเทอร์เน็ตแทน ทว่าเบอร์มือถือก็ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเรากับโลกออนไลน์ แต่รู้ไหมว่ายิ่งเราเอาเบอร์มือถือไปยึดโยงกับตัวตนบนออนไลน์มากเท่าไร ชีวิตเราก็ดูจะไม่ปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น แค่เบอร์มือถือที่หลุดออกไปสู่สาธารณะ อาจถูกผู้ไม่หวังดีนำไปโพสต์ประจานจนโดนโทรก่อกวนไม่หยุดหย่อน ที่สำคัญ ยังมีช่องโหว่ให้มิจฉาชีพนำไปใช้งานได้ในหลาย ๆ รูปแบบ แบบที่ใครหลาย ๆ คนโดนแก๊งคอลเซนเตอร์โทรหาวันละหลายรอบ หรือเจอข้อความฟิชชิ่งหลอกให้กดลิงก์ เป็นต้น
อาจจะยังไม่หายนะเท่ากับการที่ “เบอร์เก่า” ของเราถูกนำมา “รีไซเคิลใหม่” ในตลาดเบอร์ เบอร์เก่าที่เรายกเลิกไปแล้ว ถูกนำไปขายต่อให้กับคนอื่น สิ่งที่น่ากลัวก็คือ คนใหม่ที่ได้เบอร์เก่าของเราไปอาจจะยังเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหลายของเราได้ เมื่อเบอร์มือถือของเราถูกผูกติดกับโลกออนไลน์เยอะแยะไปหมด คนที่ได้เบอร์เก่าของเราไปใช้ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้หมดทุกอย่าง ถ้าเราไม่ได้ทำเรื่องถอดเบอร์เก่าออกจากบริการต่าง ๆ เมื่อระบบส่งรหัส OTP มาให้ มันจะถูกส่งไปที่เบอร์เก่า (ในมือคนใหม่) ด้วยนั่นเอง
สมัครการใช้งานแอปพลิเคชันต่าง ๆ
นอกจากอีเมลแล้ว แอปฯ สำหรับติดต่อสื่อสาร แอปฯ ความบันเทิง ดูหนังฟังเพลง หรือแอปฯ จัดส่งของ อย่างพัสดุ เอกสาร หรือเดลิเวอรี่อาหาร และบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ มักจะมีการขอผูกเบอร์โทรศัพท์ของเราเข้ากับแอปฯ ในการสมัครเข้าใช้งาน เพื่อขอเข้าถึงเบอร์โทรศัพท์และรายชื่อผู้ติดต่อของเราให้มาเชื่อมต่อให้กันในแอปฯ หรืออาจเพื่อที่จะทำการตลาด โดยจะมีการส่งข้อความที่มีความเป็นส่วนตัวสูงให้สมาชิกที่ได้ลงทะเบียนไว้ หรือใช้สำหรับการยื่นข้อเสนอพิเศษในแคมเปญต่าง ๆ เป็นโปรโมชันร่วมกับค่ายมือถือที่เราใช้งานอยู่ หรือเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับติดต่อเราเพื่อส่งพัสดุ ส่งเอกสาร หรือส่งอาหาร จึงต้องบังคับให้เราใช้เบอร์มือถือในการสมัครใช้งาน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ บริการต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้มีข้อมูลของเราเพียงแค่เบอร์มือถือเท่านั้น แต่ยังเก็บข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ของเราไปด้วย มากน้อยแตกต่างกัน แต่หลัก ๆ ก็มีชื่อ-นามสกุล เบอร์มือถือ อีเมล และที่สำคัญ ยังเก็บ “พฤติกรรม” การใช้งานของเราด้วย ข้อมูลต่าง ๆ ที่เราคุยกับเพื่อน ประเภทของคอนเทนต์ที่เราชอบเสพ ร้านอาหารที่เราสั่งบ่อย ๆ เป็นต้น มันจึงกลายเป็นที่มาของกฎหมาย PDPA ที่จะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเราจากการเข้าใช้งาน ในยุคที่มิจฉาชีพสามารถหาซื้อข้อมูลเหล่านี้ได้ไม่ยาก หรืออาจจะหลุดจากฐานข้อมูลผู้ให้บริการก็ได้
สะสมแต้มเวลาชอปปิง
อีกหนึ่งการใช้งานเบอร์มือถือที่แทบจะแทนที่การใช้งานเดิมอย่างการโทรออกและรับสายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือการใช้เบอร์โทรศัพท์สำหรับสะสมแต้มหลังชอปปิง ไม่ว่าจะแต้มของร้านสะดวกซื้อ ร้านเครื่องสำอาง หรือเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยเราต้องแสดงความเป็นสมาชิก และแจ้งหมายเลขสมาชิกเพื่อทำการสะสมแต้ม ส่วนมากเลขสมาชิกดังกล่าวก็คือเบอร์โทรศัพท์นั่นเอง วิธีการก็คือ เราสามารถแจ้งเบอร์โทรศัพท์กับพนักงานเก็บเงิน หรือกดเบอร์โทรศัพท์ของเราที่เครื่องเล็ก ๆ หน้าเคาน์เตอร์เพื่อเก็บแต้มจากการใช้จ่ายได้ทันที ส่วนแต้มที่สะสมไว้ก็เพื่อนำไปแลกรางวัล แลกของสมนาคุณ หรือแลกส่วนลดต่าง ๆ
สิ่งที่ต้องระวังก็คือ การจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ในร้านสะดวกซื้อ ร้านเครื่องสำอาง และห้างสรรพสินค้า มันเป็นสถานที่สาธารณะ การบอกเบอร์กับพนักงาน บางทีเราก็เสียงดังมากพอที่จะทำให้คนที่ต่อแถวอยู่ข้างหลังได้ยินไปด้วย หรือในขณะที่เรากดเบอร์ที่เครื่องด้านหน้าเคาน์เตอร์ เราก็ไม่รู้หรอกว่าจะถูกแอบสังเกตหรือจดจำเบอร์ไปหรือเปล่า การได้ไปซึ่งเบอร์มือถือ เมื่อก่อนอาจจะดูไม่อันตรายเท่าไรนัก ก็แค่เบอร์มือถือจะเอาไปทำอะไรได้ แต่ในยุคที่เราใช้เบอร์มือถือผูกเข้ากับบริการนั้นบริการนี้ในออนไลน์มากมายไปหมด มันทำให้เราเสี่ยงจะโดนนำเบอร์มือถือไปสืบค้นข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ที่ถูกเก็บรวบรวมไว้ด้วยกันเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเรา
รวมถึงอาจถูกมิจฉาชีพจดจำเบอร์มือถือนำมาใช้หลอกลวงเราด้วยมุกมิจฉาชีพต่าง ๆ อีกทีก็ได้ เพราะเบอร์มือถือน่ะ จะโทรเข้ามาหลอกลวงแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็ได้ หรือจะส่งเป็นข้อความฟิชชิ่งมาหลอกให้เรากดเข้าลิงก์ แล้วดูดข้อมูลหรือเงินจากบัญชีของเราไปก็ได้เหมือนกัน
การยืน ยันตัวตน
ตัวเลือกหนึ่งที่เรามักเลือกใช้เพื่อรักษาความปลอดภัยในการเข้าใช้งานแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็คือ เบอร์โทรศัพท์นี่แหละ สังเกตไหมว่าทุกวันนี้ ไม่ว่าเราจะสมัครเข้าใช้งานแอปฯ อะไรก็ตาม หรือจะสร้างแอ็กเคาน์เพื่อใช้บริการใด ๆ เรามักจะถูกขอให้กรอกเบอร์โทรศัพท์ด้วยเสมอ จากนั้นระบบจะส่งรหัส OTP (One Time Password) มาให้ ซึ่ง OTP ก็คือรหัสผ่านที่สามารถใช้ได้เพียงครั้งเดียวต่อการเข้าสู่ระบบหนึ่งครั้ง โดยส่วนใหญ่จะเป็นตัวเลขหรือตัวอักษร 4-6 หลัก ที่มีระยะเวลาใช้งานสั้นมากเพียงไม่กี่นาที โดยถ้าหากกรอกรหัสผิดเกินจำนวนครั้งที่กำหนดหรือกรอกช้ากว่าเวลากำหนด การเข้าระบบนั้นก็จะไม่สำเร็จนั่นเอง
ปัจจุบันการส่ง OTP ให้ทางเบอร์โทรศัพท์ กลายเป็นหนึ่งในวิธีการยืนยันตัวตนเพื่อรักษาความปลอดภัยที่แพร่หลายมาก ไม่ว่าจะบริการไหน ๆ ก็จะมีการส่ง OTP ให้กับผู้ใช้งานผ่านทาง SMS เบอร์มือถือเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับการเข้าใช้บัญชี หรือการทำธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ แทบทั้งสิ้น ทั้งการเข้าใช้งานแอปพลิเคชันต่าง ๆ พวกแอปฯ สำหรับติดต่อสื่อสาร แอปฯ โซเชียลมีเดีย แอปฯ ธนาคาร แอปฯ ชอปปิงออนไลน์ (ในขั้นตอนการชำระเงินผ่านบัญชีธนาคารหรือผ่านบัตรเครดิต อาจมีการส่ง OTP มาให้) เนื่องจาก SMS OTP เป็นการส่งรหัสที่แม่นยำและใช้เวลาน้อย เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าที่ใช้สมาร์ตโฟน การยืนยันตัวตนผ่าน SMS จึงเป็นวิธีที่ง่ายและนิยมมากที่สุดในโลก
แต่การยืนยันตัวตนด้วยมือถือผ่านการรับ SMS OTP ก็ไม่ได้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมันก็มีเทคนิคในการแฮกอยู่มากมาย หรือมีช่องโหว่ระบบ ที่ช่วยให้แฮกเกอร์สามารถปลอมเป็นเราและรับ OTP ของเราได้เรื่อย ๆ ซึ่งช่องโหว่พวกนี้เกิดที่ระบบซิมการ์ดเอง จึงทำให้พวกแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไปแก้ไม่ได้ และที่สำคัญคือไม่ต้องรับผิดชอบอะไรด้วย แม้ว่ามันอาจจะทำได้ไม่ง่ายเท่าไรนัก แต่มันก็ทำได้ รวมถึงการที่เบอร์มือถือไม่ใช่ระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์เพื่อใช้ยืนยันตัวตนบุคคล ที่สำคัญ มันยังเป็นระบบพื้นฐานที่เราอาจจะ “เปลี่ยนเบอร์” ได้ แต่ระบบทุกวันนี้กลับพยายามจะผูกชีวิตออนไลน์ทุกอย่างของคนคนหนึ่งไว้กับเบอร์มือถือ
พร้อมเพย์ที่ใช้เบอร์มือถือสำหรับรับโอนเงิน
เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้เราได้ใช้เบอร์มือถือบ่อยกว่าการโทรที่เป็นหน้าที่หลักของมัน ก็คือบริการพร้อมเพย์แบบเบอร์มือถือ ทุกวันนี้เราแทบจะไม่จำหมายเลขบัญชีธนาคารกันอีกต่อไปแล้ว เพราะเราสามารถรับเงิน-โอนเงินได้ด้วยเบอร์มือถือเท่านั้น ด้วยเหตุที่มันคงจะจำง่ายกว่า ก็นะ เราใช้เบอร์มือถือในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมายทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์จนจำได้ขึ้นใจ ที่สำคัญ เวลาจะโอนเงินให้ใครหรือให้ใครโอนเงินหาเรา บอกแค่เบอร์มือถือกับชื่อเจ้าของเบอร์ก็จบแล้ว ไม่ต้องบอกว่าธนาคารไหน เราจึงใช้บริการพร้อมเพย์เบอร์มือถือกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม มันมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยกับการใช้เบอร์มือถือในการโอน-รับโอนเงิน เพราะทุกวันนี้มันมีสิ่งที่เรียกว่ามิจฉาชีพและ “บัญชีม้า” การที่มิจฉาชีพได้เบอร์มือถือของเราไป ก็อาจจะนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการใช้บัญชีของเราเป็นทางผ่านในการรับโอนเงินจากเหยื่อ มุกเบื้องต้นก็คือมิจฉาชีพนำเบอร์พร้อมเพย์ของเราไปใช้หลอกลวงให้เหยื่อคนอื่นโอนเงินมาให้เรา อาจจะเป็นการจ่ายค่าสินค้าและบริการอะไรสักอย่าง จากนั้นก็ติดต่อมาหาเราว่ามีการโอนเงินผิด ให้เรารีบโอนเงินคืน ถ้าโอนกลับช้าหรือไม่โอนกลับ ก็เหมือนเรามีพฤติกรรมจะฉ้อโกง ด้วยความที่กลัวผิด เราจึงทำตามคำแนะนำของมิจฉาชีพโดยที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองก็ตกเป็นเหยื่อเหมือนกัน ในฐานะของบัญชีม้าที่รับโอนเงินจากเหยื่อแล้วโอนไปให้มิจฉาชีพที่ปลายทาง
อะไรบ้างที่แฮกเกอร์ต้องการ
-
ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน
-
การเรียกดูกิจกรรม เช่น การไลก์ หรือการแชร์
-
ประวัติการค้นหาของคุณ
-
วันเกิด
-
เลขบัตรประชาชน
-
ข้อมูลบนโปรไฟล์โซเชียลมีเดีย
-
เพจที่คุณติดตามหรือโต้ตอบ
-
คำร้องออนไลน์ที่คุณเคยลงชื่อไว้
-
ประวัติทางการแพทย์
การขโมยข้อมูลตัวตนดิจิทัล
1. การโดนขโมย Online Account
ไม่ว่าจะเป็น Social Network Account ต่าง ๆ หรือ Online Shopping Account เมื่อแฮกเกอร์สามารถเข้าถึง Account ของเราได้แล้ว ไม่ว่าจะความผิดพลาดจากตัวเราเอง (ใช้ Password ง่ายไปหรือใช้ซ้ำกับเว็บอื่น) หรือว่า ผิดพลาดจากผู้ให้บริการ ถ้าระบบไม่รัดกุมเพียงพอ (โดน Hacker โจมตีที่ระบบ) ข้อมูลทั้งหมดของเราจะหลุดออกไปทันที เรียกว่าขโมยความเป็นตัวตนไปได้เลย กรณีนี้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง เพราะ Hacker สามารถนำเอาไปทำอะไรก็ได้ และยังสามารถนำไปสร้างความเสียหายอื่น ๆ ได้อีก
2. นำเอาข้อมูลของเด็กไปใช้
การนำข้อมูลของเด็กโพสขึ้นโซเชียลนั้นนอกจากจะกระทบกับสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็กแล้ว ข้อมูลที่พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง นำไปเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย อาจถูกนำเอาข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในทางที่ผิดได้เช่นเดียวกัน แฮกเกอร์สามารถนำไปสร้างโปรไฟล์ออนไลน์ หรืออาจนำไปทำสิ่งที่เลวร้ายบนโลกออนไลน์ก็ได้เช่นกัน
3. การขโมยเลขบัตรประชาชน
เลขบัตรประชาชนอาจดูเป็นข้อมูลที่ดูทั่ว ๆ ไป แต่จริง ๆ แล้วในหลาย ๆ ครั้งถูกนำเป็นข้อมูลเพื่อใช้ยืนยันตัวตน ควบคู่กับวันเดือนปีเกิด เช่นหลายครั้งที่มีคนถ่ายรูปบัตรประชาชนลงโพสลง Social Media แบบสาธารณะ นั่นอาจทำให้ผู้ไม่หวังดีก็สามารถนำข้อมูลไปยืนยันตัวตนแทนเราได้แล้ว
4. การปลอมแปลงบัญชีของเหยื่อ
ที่พบบ่อยที่สุดคือการโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวจากโปรไฟล์ดิจิทัลต่างๆของเหยื่อ คือการสร้างบัญชีใหม่โดยใช้ข้อมูลที่ขโมยมา เพื่อนำไปหลอกลวงผู้อื่นด้วยวิธีที่หลากหลายหรือนำไปเปิดบัญชีธนาคาร เป็นต้น
การรักษาข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์
การเข้าใจแนวคิดของการปกป้องความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์รอยเท้าดิจิทัลการรักษาความปลอดภัยทางดิจิทัลช่วยป้องกันภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ได้ข้อแนะนำต่อไปนี้ให้ผู้ใช้งานรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวและอุปกรณ์ดิจิทัล
1.) ไม่ตั้งรหัสผ่านที่ง่ายเกินไป รหัสผ่านเป็นกุญแจที่ไขเข้าสู่ข้อมูลและเอกสารของเรา อาชญากรไซเบอร์จะใช้วิธีต่างๆ เพื่อที่จะเข้าผ่านเข้ารหัสได้ เพื่อที่จะไม่ให้คนพวกนี้เข้าถึงง่าย ควรตั้งรหัสที่ยากและซับซ้อน และไม่ควรบันทึกรหัสผ่านไว้ในอุปกรณ์ดิจิทัล
2.) ใส่ใจกับการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว แอปส่วนใหญ่จะมีตัวเลือกในการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวให้แก่ผู้ใช้งาน เพื่อที่จะตัดสินได้ว่าข้อมูลไหนจะแบ่งปันให้ใครได้เท่าไร ทางที่ดีควรเลือกตั้งค่าที่มีความเป็นส่วนตัวให้มากที่สุด ระมัดระวังในการเปิดเผยชื่อและที่ตั้งของเรา และปฏิเสธ App ที่พยายามจะเข้าถึงกล้องถ่ายรูปของเรา
3.) ใส่ใจรอยเท้าดิจิทัล สิ่งที่ผู้ใช้โพสต์ลงโลกออนไลน์แล้ว สิ่งนั้นคงจะอยู่ตลอดไป แม้ว่าโพสต์ต้นทางจะลบแล้ว คนอื่นก็จะตามร่องรอยเราจนได้ เมื่อคิดจะโพสควรโพสต์ แต่เรื่องที่ดีๆและระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว
4.) ควรติดตั้งโปรแกรมรักษาความปลอดภัยให้กับอุปกรณ์ดิจิทัลทุกตัว รวมถึงโทรศัพท์ด้วย เพื่อที่จะปกป้องอุปกรณ์เหล่านั้นจากภัยคุกคามในโลกไซเบอร์
5.) สำรองข้อมูลไว้เสมอ การสำรองข้อมูลมักถูกมองข้ามเสมอ แต่เป็นเรื่องสำคัญที่จะปกป้องข้อมูลที่สำคัญ โปรแกรมเรียกค่าถ่ายจะยึดข้อมูลของผู้ใช้งานไว้เป็นตัวประกัน
6.) ติดตั้งเครื่องมือติดตามอุปกรณ์หรือรับหน้าจอ ในกรณีที่ทำหายเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่เอาไปเข้าถึงข้อมูลในเครื่องได้
7.) ระมัดระวังการใช้บลูทูธ ถึงแม้ว่าจะสะดวกสบายแต่บลูทูธก็ยังมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ควรจะปิดโหมดบริการนี้ไว้เสมอ เมื่อไม่ได้ใช้งาน
8.) Update ระบบปฏิบัติการอยู่เสมอ ทั้งระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์ดิจิทัล และโปรแกรมและ Application ที่ติดตั้งในอุปกรณ์นั้น เพื่อที่จะรับบริการด้านความปลอดภัยและซ่อมแซมข้อบกพร่องของรุ่นเก่าๆ
9.) ระมัดระวังการใช้ Wifi อุปกรณ์ WiFi ที่ใช้ควรจะมีความปลอดภัยควรตั้งรหัสผ่านไว้ตลอดเวลา และไม่ใช้ WiFi สาธารณะ เมื่อต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือทำธุรกรรม
10.) ลบข้อมูลหรือโปรแกรมที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว หากว่ามีโปรแกรมหรือแอปที่ไม่ได้ใช้งานหลายเดือนและควรจะเอาออกเสีย เช่นเดียวกับข้อมูลที่ไม่ได้ใช้แล้ว ควรจะลบออก หรือมิฉะนั้นควรจะเก็บข้อมูลเหล่านั้นในฮาร์ดไดรฟ์ต่างหาก หรือเก็บไว้ในลักษณะออฟไลน์ เพื่อที่จะปกป้องข้อมูลส่วนตัวในกรณีที่ผู้ใช้งานอาจจะลืม
11.) ระมัดระวังการหลอกลวงให้กรอกข้อมูล มิจฉาชีพจะปลอมตัวเป็นองค์กรที่เป็นที่รู้จัก และหลอกล่อให้ผู้ใช้งานเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เพื่อจะเข้ารหัสผ่านหรือเพื่อติดตั้งมัลแวร์ ควรสังเกต URL ของเว็บไซต์ให้ชัดเจน และอย่ากดลิงค์หรือเปิดไฟล์ที่แนบเข้ามา และระมัดระวังการหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่พยายามล้วงข้อมูลส่วนตัว และนำไปเปิดบัญชี internet Banking ที่สามารถโอนเงินจากบัญชีธนาคารของผู้ใช้งานออกไปได้
12.) ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างระมัดระวัง ไม่ควรรับคนที่ไม่รู้จักเป็นเพื่อนหลีกเลี่ยงการแชทกับคนแปลกหน้า ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวในหมวดสาธารณะ ลบบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ได้ใช้แล้ว
วิธีเล่นโซเชียลอย่างไรให้ปลอดภัย
1.ใช้วิจารณญาณในการเสพข่าวสาร
ปัจจุบันไม่ว่าใครๆ ก็ต่างโพสต์ข้อความลงบนโลกโซเชียลได้ทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้เองในแต่ละวันบนโลกโซเชียลจึงเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่อาจเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง ซึ่งเราในฐานะผู้เสพเนื้อหาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้วิจารณญาณในการเสพข่าว การแชร์หรือคอมเมนต์ข้อความใดๆ บนแหล่งข่าวที่ไม่รู้ที่มาที่ไปย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดและทำให้เรื่องดังกล่าวนั้นบานปลายออกไปอีกมาก
2.พึงระลึกไว้เสมอว่า “บนโลกโซเชียลไม่มีคำว่าส่วนตัว”
หลายๆ คนมักตกหลุมพรางในการเล่นโซเชียลด้วยความคิดที่ว่า การตั้งค่าให้เห็นเฉพาะเพื่อนคือการสร้างความเป็นส่วนตัว แต่ในความเป็นจริงแล้วโพสต์ต่างๆ ที่เราได้นำขึ้นไปบนโลกโซเชียลย่อมกลายเป็นสิ่งของสาธารณะที่ไม่ว่าใครก็สามารถเห็นได้ ถึงแม้วันนี้เราจะโพสต์รูปภาพหรือข้อความต่างๆ ให้เฉพาะกลุ่มเพื่อนได้เห็น แต่มันใจได้อย่างไรว่าพวกเขาเหล่านั้นจะไม่กดเซฟหรือส่งต่อโพสต์เหล่านี้ไปให้บุคคลที่ 3 ได้รับรู้ ?
3.อย่าแสดงความรู้สึกทุกอย่างลงบนโลกโซเชียล
หลายๆ คนมักโพสต์อารมณ์และความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ลงบนบัญชีโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น ทะเลาะกับแฟน เบื่องานประจำที่ทำ งอนเพื่อน ฯลฯ ซึ่งการโพสต์ความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้โดยไม่ไตร่ตรองให้ดี บางครั้งก็เปรียบเสมือนกับดาบสองคมที่ย้อนกลับมาทำร้ายเราในภายหลัง
4.เปิดเผยข้อมูลให้น้อยที่สุด
อย่างที่กล่าวไปในข้อ 2. ว่าบนโลกโซเชียลไม่มีคำว่าเป็นส่วนตัว ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการลงข้อมูลสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับตัวเรา เช่น ชื่อ–นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ไอดีไลน์ ที่อยู่ หรือแม้แต่การเช็คอินเพื่อบอกสถานที่ในบางครั้งก็อาจเป็นการนำภัยมาสู่เราได้โดยไม่รู้ตัวเช่นเดียวกัน (โดยเฉพาะการโพสต์อวดทรัพย์สิน รูปถ่ายของบ้าน และการบ่งบอกสถานะว่ากำลังอยู่คนเดียว เป็นต้น)
5.รหัสผ่านเป็นสิ่งที่เราต้องรู้เพียงคนเดียวเท่านั้น
ข้อสุดท้ายเป็นข้อที่สำคัญที่สุด!! นั่นคือรหัสผ่านของบัญชีโซเชียลมีเดียต่างๆ จะต้องเป็นสิ่งที่มีเรารู้เพียงคนเดียวเท่านั้น การบอกรหัสผ่านให้บุคคลอื่นๆ หรือการล็อคอินโซเชียลมีเดียในที่สาธารณะจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะต้องไม่ลืมว่า พรบ.คอมพิวเตอร์ และ พรบ.ไซเบอร์ สามารถเอาผิดกับเจ้าของบัญชีแอคเคาท์ต่างๆ ที่มีพฤติกรรมบนโลกโซเชียลที่ไม่เหมาะสมได้แล้ว
สรุปการใช้เบอร์ในโลกออนไลน์
ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่นี้ เบอร์มือถือดูจะมีความสำคัญน้อยลงในแง่ของการโทรศัพท์หากันผ่านเบอร์มือถือ เมื่อก่อนเวลาแอบชอบแอบถูกใจใคร เราอาจะเดินเข้าไปขอเบอร์มือถือเขา แต่ทุกวันนี้เรากลับขอไลน์ ขอเฟซบุ๊กของเขาแทน หรือเวลาที่จะติดต่อกับคนอื่น มักจะต้องเป็นเรื่องด่วนจริง ๆ เราถึงจะกดเบอร์มือถือของเขาแล้วโทรหา ส่วนใหญ่จะใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันสำหรับการสื่อสารที่มันมีประสิทธิภาพมากกว่าและประหยัดเงิน แชตก็ได้ วอยซ์คอล-วิดีโอคอลก็ฟรี แต่เรากลับนำเบอร์มือถือไปใช้ประโยชน์กันในแง่อื่น ๆ แทน เบอร์มือถือจึงมีความสำคัญมากกว่าแค่ใช้สำหรับการโทร ในขณะเดียวกัน เราควรระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยในหลาย ๆ ด้านให้มากขึ้นด้วย